วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

ออกกำลังกายอย่างไร ดีต่อผู้สูงอายุ

ออกกำลังกายอย่างไร ดีต่อผู้สูงอายุ
ศักดิ์ณรงค์ จันทร์หอม
นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
ผู้จัดการ Siriraj Fitness Center 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในภาพรวม การออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุล่ะ จะทำอย่างไรถึงเหมาะสมกับวัย
เพราะสิ่งหนึ่งที่มักมากับวัยที่สูงขึ้น คือ ปัญหาด้านสุขภาพ ความจริงแล้ว ผู้สูงอายุก็สามารถออกกำลังกายได้ เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกาย โดยทั่วไปการออกกำลังกายในวัยนี้แบ่งกว้าง ๆเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การออกกำลังกายหรือการบริหารเฉพาะส่วน มักใช้เพื่อร่วมกับการรักษาโรค เช่น การบริหารข้อไหล่ในผู้ป่วยโรคไหล่ติด การบริหารกล้ามเนื้อหลังในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
2. การออกกำลังกายโดยทั่วไป เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือนันทนาการ ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต รวมถึงเพื่อเป็นการผ่อนคลายด้วย
กีฬาที่เหมาะสม
ควรเลือกกีฬาที่ไม่ใช้แรงมาก หรือไม่มีการกลั้นหายใจ การเหวี่ยง หรือกระแทกแรง ๆ เช่น การยกเวทที่มีน้ำหนักมาก การวิ่งเต็มที่ การชกมวย เป็นต้น อีกทั้งควรเลือกกีฬาที่เล่นเพื่อความสนุกจะเหมาะกว่ากีฬาที่เล่นเพื่อการแข่งขัน แต่ถ้าจำเป็นต้องแข่งขัน ควรเลือกคู่แข่งในในวัยเดียวกันและสมรรถภาพใกล้เคียงกัน รวมถึงกีฬาที่ตัวผู้เล่นสามารถควบคุมจังหวะการเล่นได้เอง เช่น สามารถลดความหนักหรือหยุดพักได้ตามความต้องการ ซึ่งก็มีกีฬาหลายอย่างที่น่าเล่น ขอแนะนำดังนี้
-เดินเร็ว เป็นกีฬาและการออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตของ
ร่างกายมีความแข็งแรง ลดความดันโลหิต และเพิ่มการเผาผลาญพลังงานที่เป็นส่วนเกินของร่างกาย แต่ต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นเนินสูงหรือขั้นบันได เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
-โยคะ/ รำมวยจีน/ ไท้เก๊ก เน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วนอย่างช้า ๆ เป็นการออก
กำลังกายที่ช่วยในการทรงตัว ทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อแข็งแรง และยังผสมผสานการฝึกการหายใจเพื่อให้ออกซิเจนได้เข้าสู่ร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกสมาธิ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีจิตใจปลอดโปร่ง แจ่มใสด้วย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องข้อเท้า
-เต้นลีลาศ ถือเป็นกีฬาและสันทนาการ ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากช่วยให้ออกกำลังกายได้ทุกส่วนแล้ว จังหวะการเคลื่อนไหวยังช่วยในเรื่องของความจำ สมาธิ และการทรงตัว สำคัญที่สุด เพลงที่ใช้เต้นก็เป็นเหมือนดนตรีบำบัด ช่วยบำบัดฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจในเวลาเดียวกัน อีกทั้งการเต้นลีลาศยังช่วยให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ
หากแต่ในระหว่างการเล่น จะต้องคอยระวังและสังเกตตัวเองว่าควรหยุดเมื่อไร จากอาการเวียนศีรษะ ตามัว รู้สึกคล้ายหายใจไม่ทัน หรือหายใจไม่ออก ใจสั่น แน่น เจ็บตื้อบริเวณหน้าอก รวมถึงเมื่อมีอาการลมออกหู หรือหูตึงกว่าปกติ หากเกิดอาการดังกล่าว จะต้องหยุดเล่นทันที แล้วพักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอาการเป็นอยู่นาน ควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าอาการหายไปเองในระยะเวลาอันสั้น ก็ไม่ควรเล่นต่อในวันนั้น ให้พักจนกว่าอาการนั้นจะหายไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น